บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ดีล AIS เสนอซื้อ 3BB เพื่อประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม

46 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ดีล AIS เสนอซื้อ 3BB เพื่อประเมินผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม

โครงสร้างตลาดบรอดแบนด์ในประเทศไทย
หากดูตัวเลขล่าสุดจาก กสทช. (รายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ไตรมาส 3/2564 ซึ่งอาจค่อนข้างเก่าไปพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่มีตัวเลขที่ใหม่กว่านี้) ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในไทย มีผู้เล่นรายใหญ่ 4 เจ้า คิดตามส่วนแบ่งตลาดดังนี้

1. True (TICC) ส่วนแบ่งตลาด 35.57%
2. 3BB ส่วนแบ่งตลาด 28.30%
3. TOT/NT ส่วนแบ่งตลาด 19.92%
4. AIS Fibre (AWN) ส่วนแบ่งตลาด 13.09%

ตลาดในภาพรวมมีการเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วง work from home ระหว่างปี 2563-2564 ผู้เล่นที่มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นคืออันดับสาม NT และอันดับสี่ AIS ในขณะที่อันดับหนึ่ง True และอันดับสอง 3BB มีส่วนแบ่งตลาดลดลง

AIS Fibre เติบโตสูง แต่เริ่มทีหลังสุด ลูกค้าน้อยที่สุด
ถ้าเราดูเฉพาะธุรกิจของ AIS Fibre จะเห็นว่าฐานลูกค้าเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง work from home โดยมีลูกค้าเพิ่มจาก 1 ล้านรายใน Q4/2019 มาเป็น 1.86 ล้านรายใน Q1/2022 เท่ากับว่าโตเกือบเท่าตัวในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีกว่า

การเติบโตของลูกค้า AIS Fibre ถือว่าน่าประทับใจ แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้ว ฐานลูกค้าของ True เองก็เติบโตเช่นกัน ตัวเลขล่าสุดคือ 4.7 ล้านราย (Q1/2022) ถือว่ามากกว่า AIS ประมาณ 2.6 เท่า ทำให้ไม่ว่า AIS จะเติบโตเร็วแค่ไหน ถ้าดูจากฐานลูกค้ายังอยู่อันดับ 4 ของตลาดอยู่เช่นเดิม และยังอยู่ห่างจากผู้นำตลาดคือ True อีกมาก

สาเหตุหลักที่ AIS ตามหลัง True ในตลาดบรอดแบนด์ ย่อมมาจาก AIS เข้ามาในตลาดนี้เป็นรายสุดท้าย (เปิดตัวครั้งแรกปี 2558 ปัจจุบันอายุประมาณ 6 ปี) ในขณะที่ผู้เล่นทั้ง 3 รายคือ True, TOT/NT, 3BB เข้าสู่ตลาดมาตั้งแต่ยุค ADSL แล้ว และลูกค้าในตลาดบรอดแบนด์มีข้อจำกัดในการย้ายค่ายมากกว่าฝั่งมือถือมาก (เช่น ข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้บริการ หรืออาคารคอนโดที่อาศัยไม่รองรับค่ายอื่น)

สงครามชิงตลาดไฟเบอร์ สะท้อนการแข่งขันภาพใหญ่ AIS vs True
ในแง่ของขนาดธุรกิจ จำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ย่อมเป็นรองลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่มาก (สเกลหลักล้าน vs หลักสิบล้าน) แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดโทรคมนาคมที่ใหญ่เป็นอันดับสองแล้วในปัจจุบัน

AIS เองก็แสดงท่าทีมาตลอดว่าต้องการกระจายธุรกิจของตัวเอง จากที่อิงโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียว ให้ขยายมาสู่ธุรกิจอื่นๆ อีก 2 ธุรกิจด้วยคือ บรอดแบนด์ และธุรกิจกลุ่มลูกค้าองค์กร หากดูตัวเลขผลประกอบการไตรมาสล่าสุด (1/2565) ของ AIS จะเห็นว่าบรอดแบนด์เป็นธุรกิจอันดับ 2 ของบริษัท แม้ยังตามหลังธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ราว 10 กว่าเท่าก็ตาม

นอกจากนี้ ในยุคที่บริการเป็น convergence ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังสามารถขายพ่วง (bundling of services) กับบริการบรอดแบนด์และบริการโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) ที่เกี่ยวเนื่องกัน เพื่อดึงดูดลูกค้าได้มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

ดังที่เราเห็นได้จากการออกโปรโมชั่นข้ามบริการกัน ทั่งฝั่งของ AIS Mobile + AIS Fibre + AIS Play และฝั่งของ True Mobile + True Online + True Visions/True ID

บริษัทที่สามารถทำแบบนี้ได้มีเพียง AIS และ True เพียง 2 รายเท่านั้นที่มีของครบทั้ง 3 บริการ

ภาพสะท้อนธุรกิจโทรคมนาคมยุคควบรวม และดีล dtac/True
การซื้อบริการ 3BB ของ AIS จะส่งผลให้ธุรกิจบรอดแบนด์มีผู้เล่นรายใหญ่ลดลงจาก 4 รายเหลือ 3 ราย (เบอร์ 4 ซื้อเบอร์ 2 ของตลาด) ย่อมทำให้การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์ลดลง

แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ธุรกิจบรอดแบนด์มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างแนบแน่น การวิเคราะห์ดีลนี้จึงต้องมองไปถึงภาพใหญ่ของการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมในภาพรวมด้วย

เพราะในตลาดใหญ่อย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่เอง ก็มีประเด็นการควบรวมระหว่าง dtac และ True ค้างอยู่ ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ลงจาก 3 รายเหลือ 2 รายเช่นกัน (NT มีบทบาทพอสมควรในตลาดบรอดแบนด์ แต่ในตลาดมือถือก็แทบไม่มีตัวตน) ดีล AIS/3BB ย่อมถูกนำไปเปรียบเทียบกับดีล dtac/True

ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายของ กสทช. และประเทศไทยในภาพรวมว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในระยะยาว เส้นแบ่งระหว่างการอนุมัติให้ควบรวมธุรกิจควรอยู่ตรงไหน ประเทศไทยควรเลือกแนวทางใดระหว่างการรักษาจำนวนผู้เล่นเพื่อรักษาระดับการแข่งขัน หรือการส่งเสริมให้ผู้เล่นรายใหญ่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้