จุดเปลี่ยนตลาด เน็ตบ้าน เมื่อ AIS ซื้อคู่แข่งท้าชิงเบอร์ 1

78 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จุดเปลี่ยนตลาด เน็ตบ้าน เมื่อ AIS ซื้อคู่แข่งท้าชิงเบอร์ 1

เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งในตลาดผู้ให้บริการโทรคมนาคมไทย และเป็นอีกครั้งที่ กสทช.จะต้องรับหน้าที่สำคัญในการตัดสินอนุมัติการซื้อขายในครั้งนี้

สำหรับรายละเอียดประกอบด้วยการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 99.87% มูลค่า 19,500 ล้านบาท ซึ่งจะรวมถึงบริษัทย่อยที่ TTTBB ถือหุ้นทั้งหมดอีก 2 บริษัทคือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด ที่รวมทั้งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง บริการโทรศัพท์ประจำที่ และบริการโครงข่ายโทรทัศน์แบบ IPTV ทำให้นอกจากจำนวนฐานลูกค้าของ 3BB แล้ว AIS ยังได้ฐานลูกค้าที่เป็นโทรศัพท์พื้นฐาน และความเชี่ยวชาญในการให้บริการ IPTV มาเสริมบริการของ AIS PLAY ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบันด้วย

ขณะเดียวกัน จากสัดส่วนการเข้าถือหุ้น 19% ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) มูลค่า 12,920 ล้านบาท จะทำให้ AIS Fibre เข้าถึงเส้นใยแก้วนำแสงกว่า 1,680,500 คอร์กิโลเมตรที่เชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปทั่วประเทศ ทำให้ช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของ AIS Fibre ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของดีลนี้ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ปัจจุบัน เอไอเอสซึ่งนับเป็นผู้นำในตลาดโทรคมนาคมด้วยฐานผู้ใช้งานกว่า 45 ล้านราย แต่ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สร้างรายได้เป็นลำดับ 2 รองจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันนั้นนับเป็นสัดส่วนรายได้ไม่ถึง 10% ของรายได้หลัก

ขณะเดียวกัน ความท้าทายของ AIS Fibre ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง คือการที่คู่แข่งทั้งทรู ออนไลน์ และ 3BB ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศมาก่อน ทำให้ถึงแม้ว่าที่ผ่านมา AIS Fibre จะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเหนือกว่าการเติบโตของตลาดแต่ก็ยังไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ จากสถานะในปัจจุบันที่ครองเบอร์ 4 ในตลาดด้วยจำนวนฐานลูกค้า 1.86 ล้านราย พร้อมกับเป้าหมายที่จะเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 2.2 ล้านรายภายในสิ้นปี 2565

ในฝั่งของ 3BB ก็กำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากการควบรวมกิจการระหว่างดีแทค และกลุ่มทรูที่จะทำให้เกิดรูปแบบการนำเสนอโปรโมชันในลักษณะของการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมกับการใช้งานบริการมือถือ ซึ่งจะทำให้ 3BB เป็นผู้ให้บริการรายเดียวในตลาดที่ไม่สามารถทำได้และมีโอกาสที่จะถูกแย่งลูกค้าไป

ตามด้วยการแข่งขันทางด้านราคาที่มีโอกาสดุเดือดมากยิ่งขึ้น กลับกันปริมาณการสมัครใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้ใช้รายใหม่ที่ไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดดเหมือนจากปัจจัยการทำงานจากที่บ้านเช่นในปีที่ผ่านมา ประกอบกับสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเมื่อเทียบกับครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 59% แม้จะคาดการณ์ว่ามีโอกาสขึ้นไปถึง 70% ภายในปี 2569 ก็ตาม

โดยในช่วงที่ผ่านมา AIS Fibre ได้เน้นการนำเสนอแพกเกจระดับราคาต่ำกว่า 400 บาทต่อเดือน รวมถึงออกแพกเกจส่วนลดแก่ลูกค้าใหม่และลูกค้าย้ายค่ายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับราคาเฉลี่ยต่อหัวต่อเดือน (ARPU) อยู่ที่ 446 บาท ในขณะที่ 3BB สามารถทำ ARPU ได้เฉลี่ยที่ 596 บาทสูงกว่าทรู ออนไลน์ที่ ARPU 491 บาท

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนของเอไอเอสในครั้งนี้เป็นไปตามกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อให้สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านสายไฟเบอร์ที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงขยายการลงทุนไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดและรอบนอกตัวเมือง พร้อมกับพัฒนาโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการลากสายไฟเบอร์ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ก่อนหน้านี้ AIS Fibre ได้ประกาศแผนการทำตลาดว่า จะเน้นที่การทำตลาดแบบ FMC (Fixed-Mobile-Content Convergence) ในการรวมบริการทั้งอินเทอร์เน็ตบ้าน โทรศัพท์มือถือและคอนเทนต์เป็นแพกเกจรวมให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นและช่วยรักษาฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมอย่างการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน 2 Gpbs รายแรกในไทย

ขั้นตอนหลังจากนี้คือทางบริษัท แอดวานซ์ ไวเลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของเอไอเอสจะทำการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและหน่วยลงทุน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ของปี 2566

สิ่งที่ต้องจับตาดูหลังจากนี้คือเมื่อรวมฐานผู้ใช้งานของ 3BB กว่า 3.68 ล้านราย (ยอดผู้ใช้บริการที่เป็น Fixed Broadabd และเก็บเงินได้ราว 2.42 ล้านราย) และฐานลูกค้า AIS Fibre 1.86 ล้านราย เข้าด้วยกันจะทำให้ AWN มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกว่า 5.5 ล้านราย สูงกว่าผู้นำตลาดในเวลานี้อย่างทรู ออนไลน์ ที่ 4.7 ล้านราย ส่วน NT ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 1.97 ล้านราย ประกอบกับการที่ลดจำนวนผู้ให้บริการจาก 4 รายใหญ่ เหลือเพียง 3 รายจะส่งผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรม

เนื่องจากในตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังมีการแข่งขันจากเทรนด์การใช้งานที่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยเฉพาะการมาถึงของอุปกรณ์ IoT และการให้บริการโซลูชันรักษาความปลอดภัยหรือสมาร์ทโฮม ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่ามากกว่ารายได้จากค่าบริการอินเทอร์เน็ตรายเดือนเพียงอย่างเดียว

สุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทจัสมินฯ กล่าวว่าทิศทางใหม่ที่ JAS กำลังก้าวไปนั้น การมีเงินสดอยู่ในบริษัทฯ ถือว่าดีทำให้เกิดสภาพคล่อง เปิดโอกาสในการทำธุรกิจที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นด้าน Cloud, AI, Robotics, IOT, MedTech รวมถึงยังมี JTS ที่ลงทุนด้านบล็อกเชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Blockchain mining, Web 3.0, NFT และ Metaverse ปัจจุบันการขุดเหมือง bitcoin ของบริษัทฯ มุ่งไปที่การใช้พลังงานสะอาด 100% เป็นไปตามแนวดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (ESG) และยังได้รับประโยชน์จากการสั่งซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์ชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ในราคาต้นทุนที่ถูกลง โดยเหรียญ bitcoin ที่ขุดมาได้นั้นจะขายเมื่อมีกำไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ลงทุนเท่านั้น

สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 3BB และบริการ 3BB GigaTV ทั้งลูกค้าปัจจุบัน และผู้สนใจที่จะสมัครใช้บริการจะยังคงได้รับการดูแลอย่างดี ส่งผ่านสิทธิประโยชน์ต่างๆ แบบอัตโนมัติ โดยผู้ใช้บริการจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ให้ความคิดเห็นว่าตลาดโทรคมนาคมไทยกำลังเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มโครงสร้างที่ผูกขาดมากขึ้นจนถึงขั้นอันตราย เพราะหลังจากที่ทรูและดีแทคที่กำลังเดินหน้าควบรวมกันแล้ว เอไอเอสจะซื้อ 3BB อีก คิดว่า 2 ดีลนี้มีความเกี่ยวข้องกัน โดยดีลหลังน่าจะเป็นปฏิกิริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่าการควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช.ก่อน ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าแค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม ท่ามกลางการสร้างกระแสว่าประชาชนและนักวิชาการจำนวนมากสนับสนุนการควบรวม

“หากทั้ง 2 ดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยจะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย”

ด้าน นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ดีลนี้สำนักงาน กสทช.ต้องเชิญเอไอเอสมาสอบถาม และต้องเดินตามแนวทางเหมือนกับกรณีควบรวมระหว่างทรูกับดีแทคเพื่อสร้างมาตรฐานให้เหมือนกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน

“แม้ดีลนี้จะต่างกันและไม่ซับซ้อนตรงที่ว่าเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่และเป็นผู้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของ กสทช.ทั้งคู่เป็นการซื้อขายกิจการที่ชัดเจน และสำนักงาน กสทช.มีอำนาจการพิจารณาอย่างชัดเจนไม่มีความซับซ้อนแบบทรูกับดีแทคที่เป็นกรณีการควบรวมของบริษัทแม่”

สำนักงาน กสทช.ต้องตั้งคณะทำงานและจัดทำบทวิเคราะห์ซึ่งการหาข้อมูลอาจจะเป็นการทำโฟกัสกรุ๊ปหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับ กสทช. ต้องมีการกำหนดระยะเวลาการเข้าซื้อกิจการให้ชัดเจน รวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ไม่ใช่บริการที่ประชาชนทั่วประเทศใช้งานเหมือนโทรศัพท์มือถือที่เป็นปัจจัย 5 ของทุกคนประชาชนมีการใช้งานไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประเทศ และแม้จะรวมกันก็ยังมีผู้เล่นในตลาดเหลืออยู่หลายราย แต่ถามว่ามีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่นั้น ต้องถือว่าเข้าข่ายแต่ไม่ได้รุนแรงเท่ากับบริการโทรศัพท์มือถือ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้